วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ประวัติอ.ดำเนินสะดวก

อำเภอดำเนินสะดวก
ประวัติอำเภอดำเนินสะดวกเริ่มขึ้นก่อน พ.ศ. 2400 พื้นที่มีสภาพเป็นที่ราบลุ่มมีป่าดงไผ่และต้นเสือหมอบ เมื่อถึงฤดูน้ำหลากจะท่วมพื้นที่เกือบทั้งหมดของอำเภอสภาพท้องที่สมัยไม่มีลำคลองมากมายเช่นในปัจจุบัน ในสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่าเนื้อที่ดินในเขตอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี และอำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาครเป็นพื้นที่ดินราบลุ่มมีอาณาบริเวณหลายหมื่นไร่ หากให้ขุด คลองขึ้นโดยผ่านพื้นที่ทั้งสองอำเภอก็จะเกิดประโยชน์มากมาย แก่ราษฎรที่จะเข้ามาจับจองที่ดินประกอบการเกษตร ลำคลองนี้จะเป็นเส้นทางลำเลี่ยงสินค้าเข้าสู่ตัวเมืองหลวงได้สะดวกเป็นเส้นทางคมนาคมระหว่างกรุงเทพ กับจังหวัดราชบุรี การขุดคลองเริ่มต้นจากจุดริมแม่น้ำท่าจีน ตำบลบางยาง อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร เป็นเส้นตรง ผ่านตำบลโคกไผ่ ( ปัจจุบันคือตำบลดอนไผ่) และขุดผ่านเข้ามาในเขตอำเภอปากคลองแพงพวย ( อำเภอดำเนินสะดวกเดิม) จนถึงแม่น้ำแม่กลองที่ปากคลองบางนกแขวก คลองนี้ได้ทำการขุดสำเร็จเมื่อ พ.ศ. 2410 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร. 5) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทำพิธีเปิดใช้คลองเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2411 อำเภอดำเนินสะดวก ตั้งอยู่ที่ปากคลองลัดราชบุรีถึง พ.ศ.2455 ทางราชการจึงได้ย้ายไปตั้งอยู่ที่ตำบลรางยาวฝั่งตะวันออก เหตุที่ย้ายที่ว่าการอำเภอ เนื่องจากสถานที่เดิมคับแคบไม่เหมาะแก่การขยายสถานที่ราชการอำเภอดำเนินสะดวก เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดราชบุรี อยู่ทางทิศตะวันตกของตัวจังหวัด ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลดำเนินสะดวก มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 198.97 ตารางกิโลเมตร

ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี และอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอบางคนที และอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอบางแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม

ประวัติอ.บางแพ

อำเภอบางแพ
ที่ได้ชื่อว่า " บางแพ " ได้ความว่า เมื่อสมัยก่อนท้องที่อำเภอนี้เป็นที่ลุ่มจดชายทะเลเต็มไปด้วยป่าพง ป่ากก มีผู้คนอาศัยน้อย ถึงฤดูน้ำจะมีผู้คนพากันขึ้นไปตัดไม้ทางป่า ผูกเป็นแพล่องลงมาตามลำน้ำไป ขายทางชายทะเล การเดินทางจะต้องนำแพไม้มาจอดพัก ค้างแรมที่บ้านบางแพนี้ เมื่อมีผู้คนมาตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยน้อย จึงพากันเรียกที่แห่งนี้ว่า " บางแพ " เมื่อได้ตั้งที่ว่าการอำเภอขึ้นที่ตำบลบางแพจึงได้ชื่อว่า "อำเภอบางแพ" ตามสถานที่ตั้ง อำเภอบางแพตั้งขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2457 โดยแบ่งตำบลต่างๆ ของ อำเภอบ้านโป่ง อำเภอโพธาราม และอำเภอดำเนินสะดวก รวม 17 ตำบล จัดเป็นตำบลขึ้นใหม่แล้วยกฐานะเป็นอำเภอ ในปี พ.ศ. 2460 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาอยู่ที่บริเวณวัดหัวโพ ตำบลหัวโพ อาศัยศาลาการเปรียญซึ่งเป็น ศาลาดิน เป็นที่ตั้งที่ว่าการอำเภอชั่วคราว และได้เปลี่ยนเป็น " อำเภอหัวโพ " ครั้นในปี พ.ศ. 2461 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอจากตำบลหัวโพมาตั้งที่บ้านหมู่ที่ 5 ตำบลบางแพ อยู่ฝั่งตะวันออกของลำคลองบางแพ ณ ที่ดังกล่าวได้เปลี่ยนชื่ออำเภอเป็น " อำเภอบางแพ"


อาณาเขต

ทิศเหนือ ติดต่อกับตำบลสระกระเที่ยม ตำบลบางแขม อำเภอเมืองนครปฐม
ทิศใต้ ติดต่อกับตำบลบ้านไร่ ตำบลบัวงาน อำเภอดำเนินสะดวก
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม และอำเภอเมืองบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี

ลักษณะภูมิประเทศ
เป็นที่ราบลุ่มทั่วไป ไม่มีป่าและเขา สภาพทั่วไปอากาศโปร่งเย็น มีความชุ่มชื่นพอสมควร ลำน้ำสำคัญที่เป็นประโยชน์ในด้านการเกษตร คือ ลำคลองบางแพ เริ่มต้นจาก ตำบลคลองตาคต อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ผ่านอำเภอบางแพ ในท้องที่ตำบลวังเย็น และในท้องที่ตำบลบางแพ เนื่องจากอำเภอ นี้เป็นที่ราบลุ่ม ทรัพยากรธรรมชาติจึงมีปลาและสัตว์น้ำตามแม่น้ำลำคลอง

พื้นที่ มีเนื้อที่รวมทั้งสิ้น 182 ตารางกิโลเมตร
อำเภอเมืองเรืองราชบุรี เดิมเป็นที่ตั้งเมืองเรียกว่า " เมืองราชบุรี " มีฐานะเป็น มณฑลราชบุรี อันเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักร " ทวาราวดี " ของชนชาติลาว เล่ากันว่า เมืองราชบุรีนี้ ตัวเมืองเดิมตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านไร่ (เดิมชื่อตำบลอู่เรือ ) อำเภอเมืองราชบุรี ในปัจจุบัน ต่อมาเมืองราชบุรี ได้ร้างไปประมาณ 300 - 400 ปี ภายหลังพระเจ้าอู่ทอง ได้สร้างเมืองราชบุรีขึ้นใหม่ทีวัดมหาธาตุวรวิหาร ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของศาลากลางจังหวัดหลังเก่า ฝั่งขวาของแม่น้ำแม่กลอง ต่อมา เมื่อ พ.ศ. 2360 ( ร.ศ. 36 ) ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงโปรดเกล้าให้ย้ายเมืองราชบุรี มาตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำแม่กลอง คือที่ตั้งจังหวัดทหารบกราชบุรี ครั้นปี พ.ศ. 2440 (ร.ศ. 116 ) ได้เริ่มจัดระเบียบการปกครองท้องที่ ในครั้งนั้น ได้แบ่งการปกครองท้องที่ออกเป็น 5 อำเภอ เฉพาะอำเภอเมืองราชบุรี เดิมตั้งอยู่ที่ตำบลธรรมเสน อำเภอโพธาราม ในครั้งนั้น จึงเรียกว่า " แขวง" ต่อมา พ.ศ. 2441 จึงได้ย้ายที่ว่าการอำเภอจากตำบลธรรมเสนมาตั้งที่ถนนอัมรินทร์ ตำบลหน้าเมือง มีพระแสนท้องฟ้า ( ป๋อง ยมคุปต์ ) เป็นนายอำเภอ ครั้นต่อมาบริเวณที่ที่ว่าการอำเภอเมืองราชบุรี ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเป็นศูนย์การค้า จึงได้ย้ายที่ว่าการอำเภอเมืองราชบุรี ไปปลูกสร้างใหม่ณ บริเวณที่มีโครงการจัดตั้ง เป็นศูนย์ราชการปัจจุบัน

อาณาเขต

ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอโพธารามและอำเภอบางแพ
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอวัดเพลงและอำเภอปากท่อ
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอดำเนินสะดวกจังหวัดราชบุรี และอำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอจอมบึงและอำเภอปากท่อ

พื้นที่ อำเภอเมืองราชบุรี มีเนื้อที่ประมาณ 454.239 ตารางกิโลเมตร

สถานีรถไฟอ.บ้านโป่ง ปี2488

ภาพถ่าย สถานีรถไฟบ้านโป่ง เดือนกันยายน 2488
สถานีรถไฟบ้านโป่งอยู่ห่างจากสถานีหนองปลาดุก 5 กิโลเมตร เป็นจุดแรกเริ่มของการเดินเท้าของการก่อสร้างเส้นทางรถไฟไทย-พม่า ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 นักโทษเชลยศึกสงครามที่เดินทางมาจากสิงค์โปร์ต้องมาสิ้นสุดที่ สถานีรถไฟบ้านโป่ง หลังจากนั้น พวกเชลยศึกจะเริ่มต้นเดินเท้า มาที่ค่ายของพวกเขาตามเส้นทางก่อสร้างรถไฟ บางคนโชคดีเดินทางระยะสั้นโดยรถบรรทุก แต่ที่เดินเท้ามามากที่สุด ได้แก่ กองกำลังเอฟ ("F" Force) ถูกบังคับให้เดินเป็นระยะทางกว่า 300 กิโลเมตร โดยกินระยะเวลาเพียงแค่ 20 วัน การเดินเท้าส่วนมากจะเดินในตอนกลางคืน เพื่อหลีกเหลี่ยงอากาศที่ร้อนจัดของเดือนมีนาคม
ที่มา : เจ พี. (______). เส้นทางรถไฟสายมรณะ สะพานข้ามแม่น้ำแคว

ภาพเก่าบ้านโป่ง

ขบวนแห่ศพของคุณสุกานดา วังตาล ผ่านถนนทรงพล กลางเมืองบ้านโป่งเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว
เจ้าของภาพ : มนัส-วรนุช พงษ์วัฒนา

น้ำท่วมบ้านโป่ง ไม่ทราบว่าปีใด
เจ้าของภาพ : ผู้ใหญ่สอางค์ พรหมอินทร์
หมู่ข้าราชการถ่ายภาพร่วมกันหน้าโรงเรียนเทศบาล 1 บ้านโป่ง เข้าใจว่าจะถ่ายในยุคจอมพล ป. เพราะทุกคนสวมหมวกตามคำสั่งท่านผู้นำ
เจ้าของภาพ : ยายฉวีรัตน์ เกษตรศิริ

รถดับเพลิงของเทศบาลเมืองบ้านโป่งลงไปสูบน้ำที่ริมฝั่งน้ำแม่กลองหน้าเมือง คงถ่ายก่อนจะมีการสร้างเขื่อนหน้าเมือง
เจ้าของภาพ : ยายฉวีรัตน์ เกษตรศิริ

ประวัติอำเภอบ้านโป่ง

ประวัติโดยย่อของอำเภอบ้านโป่ง

ตามจดหมายเหตุราชบุรี อำเภอบ้านโป่ง เดิมตั้งอยู่ที่ ตำบลท่าผา เรียกว่าอำเภอท่าผา ต่อมารัฐบาลได้สร้างทางรถไฟสายใต้ขึ้นและเห็นว่าถ้าหาก อำเภออยู่ที่ท่าผาแล้วการคมนาคมก็ไม่สู้สะดวก จึงให้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาตั้งที่ตำบลบ้านโป่ง เรียกว่า อำเภอบ้านโป่งสืบมาจนกระทั่งทุกวันนี้

บริเวณที่ตั้งอำเภอบ้านโป่งนี้ เดิมเป็นป่าโปร่งสัตว์ชอบมาอาศัย และกินดินโป่งเป็นอาหาร (ดินโป่งเป็นดินชนิดหนึ่งที่มีรสเค็ม) โดยเฉพาะสัตว์จำพวกเลียงผาชอบมาก ตามตำนานเก่าแก่เล่าว่าคำ " บ้านโป่ง" เดิมทีเดียวเรียกว่า " บ้านทับโป่ง " ซึ่งเล่ากันว่ามีกระท่อมหรือบ้าน (ทับ) อยู่ข้างดินโป่ง แต่ชาวบ้านนิยมเรียก "บ้านโป่ง" เพราะสะดวกและสั้นดีและต่อมาทางราชการก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอบ้านโป่งตามไปด้วย

อำเภอบ้านโป่ง เคยโอนไปอยู่กับจังหวัดกาญจนบุรีมาครั้งหนึ่งระหว่างสงครามมหาอาเซียบูรพา เมื่อ พ.ศ. 2484 และโอนกลับมาจังหวัดราชบุรีตามเดิม เมื่อ พ.ศ. 2489

ที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอบ้านโป่ง ตั้งอยู่ที่ถนนทรงพล ตำบลบ้านโป่ง (ในเขตเทศบาลเมืองบ้านโป่ง) มีระยะทางห่างจากจังหวัด 42 กิโลเมตร มีทางหลวงแผ่นดิน ผ่าน 2 สาย ชื่อ ทางหลวงแผ่นดินสาย 4 ( เพชรเกษม) และมีทางรถไฟผ่าน 3 สาย คือ ทางรถไฟสายใต้ ทางรถไฟสายหนองปลาดุก - สุพรรณบุรี และทางรถไฟสายหนองปลาดุก - กาญจนบุรี แม่น้ำสำคัญผ่าน 1 สาย ชื่อ แม่น้ำแม่กลอง

อำเภอบ้านโป่งมีพื้นที่ 390 ตารางกิโลเมตร
ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอท่าม่วง อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี

ลักษณะภูมิประเทศ
เป็นที่ราบลุ่มโดยทั่วไปเป็นที่ทำนา ทำสวน ทำไร่ มีป่าและภูเขาในตำบลเขาขลุง ลำน้ำที่สำคัญ ลำน้ำที่เป็นประโยชน์ในด้านการเกษตร การคมนาคม และการบริโภค คือ แม่น้ำแม่กลอง เริ่มต้นจากแควใหญ่แควน้อย มาบรรจบกันที่ตัวจังหวัดกาญจนบุรี ไหลผ่านท้องที่อำเภอบ้านโป่งที่ตำบลลาดบัวขาว ตำบลท่าผา ตำบลเบิกไพร ตำบลบ้านโป่ง ตำบลปากแรต ตำบลคุ้งพยอม ตำบลสวนกล้วย ตำบลนครชุมน์ และตำบลบ้านม่วง มีระยะประมาณ 20กิโลเมตร

งาน ๑๑๑ อ.บ้านโป่ง

อำเภอบ้านโป่ง จ.ราชบุรี เตรียมจัดงาน 111 ปีเมืองบ้านโป่งและบ้านโป่งแฟร์ อย่างยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบปี ทั้งการนำเสนออารยธรรมไทย จีน มอญ ที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน การอวดโฉม “ดีทรอยต์แห่งเมืองไทย” เมืองอู่ต่อรถบัสและอุปกรณ์ประดับยนต์ยักษ์ใหญ่ของเมืองไทย ที่สร้างรายได้อย่างมหาศาล รวมทั้งการซื้อขายปลาสวยงามจากแหล่งพันธุ์ปลาชั้นนำที่ชาวต่างชาตินิยมซื้อหากันตัวละนับล้านบาท
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 13 พ.ย. 2550 ที่ห้องประชุมชั้น 10 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ นายวิโรจน์ แสงศิวะฤทธิ์ นายอำเภอบ้านโป่ง นายมหิศร มังคลรังษี รองนายก อบจ. ราชบุรี นายอุทัย เสียงแจ่ม ที่ปรึกษากลุ่มอุตสาหกรรมต่อรถโดยสารบ้านโป่ง นายสุทธิชัย อรรถบดีกุล ตัวแทนผู้ประกอบการปลาสวยงาม อ.บ้านโป่ง ร่วมกันแถลงข่าวงาน 111 ปีเมืองบ้านโป่งและบ้านโป่งแฟร์ ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 29 พ.ย. – 5 ธ.ค. 2550 บริเวณ หน้าที่ว่าการอำเภอบ้านโป่ง จ.ราชบุรี
นายวิโรจน์ แสงศิวะฤทธิ์ นายอำเภอบ้านโป่ง กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดงานว่า เพื่อเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา และแสดงความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของ อ.บ้านโป่ง ทั้งด้านอุตสาหกรรมอู่ต่อรถบัส แหล่งเพาะพันธุ์ปลา รวมทั้งแสดงออกถึง 3 วัฒนธรรมอันดีงามที่อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข คือ ไทย จีน มอญ
โดยรูปแบบงานแบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก คือ ลาน 3 วัฒนธรรมฟูเฟื่องมีการจำลองวิถีชีวิต การละเล่นพื้นเมือง กิจกรรมแสง สี เสียง สื่อผสมชุด “เล่าขานตำนานบ้านโป่ง เชื่อมโยง 3 วัฒนธรรม สองฝั่งลำแม่กลอง” ลานภูมิใจภักดิ์ รักในหลวง เปิดโอกาสให้ร่วมถวายความจงรักภักดี ในโอกาสปีมหามงคล และลานดีทรอยต์ ออฟ ไทยแลนด์ ที่เปรียบเสมือนยุคทองของบ้านโป่ง เมืองแห่งนักประดิษฐ์ แห่งอุตสาหกรรมต่อตัวถังรถบัส และแหล่งผลิตอุปกรณ์ประดับยนต์ที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ